โลกกำลังก้าวเข้าสู่การปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เปรียบเสมือนระเบิดลูกใหญ่ที่อาจจุดชนวนให้เกิดทั้งผลกระทบดีและร้ายแรง ทั้งยกระดับประสิทธิการทำงาน ส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลก เพิ่มรายได้ของแรงงาน แต่ในขณะเดียวกันก็อาจพรากงานไปจากบางกลุ่มที่ตกขบานความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนี้ และทวีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ให้รุนแรงยิ่งขึ้น
ความก้าวหน้าของ AI ที่รวดเร็วเกินคาด สร้างทั้งความตื่นตาตื่นใจและความหวั่นวิตก กระตุ้นคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทั่วโลกจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันออกแบบชุดนโยบาย เพื่อปลดล็อกศักยภาพอันมหาศาลของ AI ให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงประโยชน์และข้อดีของเทคโนโลยีนี้
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) วิเคราะห์ผลกระทบของ AI ที่อาจเกิดขึ้นต่อตลาดแรงงานทั่วโลก กว่า 40% ของการจ้างงานทั่วโลกได้รับผลกระทบจาก AI โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ทักษะสูง (high-skilled jobs) ดังนั้นประเทศที่พัฒนาแล้วจึงได้รับผลกระทบมากกว่าและมีโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก AI มากกว่าเช่นกัน เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนา
ประมาณ 60% ของตำแหน่งงานในประเทศพัฒนาแล้วอาจได้รับผลกระทบจาก AI ครึ่งหนึ่งได้รับประโยชน์จากการบูรณาการ AI ในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ส่วนอีกครึ่งหนึ่ง AI อาจเข้ามาแทนที่งานนั้น ๆ ทำให้การจ้างงานลดลง รายได้ที่ลดลง และรุนแรงที่สุดคือ AI อาจทำให้บางตำแหน่งงานหายไปในที่สุด
ในทางกลับกัน คาดว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) และประเทศกำลังพัฒนา มี งานที่ต้องใช้ AI (AI exposure) อยู่ที่ 40% และ 26% ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศใน 2 กลุ่มดังกล่าวได้รับผลกระทบจาก AI น้อยกว่า เพราะไม่มีโครงสร้างพื้นฐานหรือแรงงานที่มีทักษะเหมาะสมในการใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไรก็ตามก็เพิ่มความเสี่ยงที่เทคโนโลยีจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำในประเทศให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในระยะยาว
AI ตัวเร่งรายได้เหลื่อมล้ำ คนรุ่นใหม่ คนมีมีสกิล AI งานเพิ่ม เงินพุ่ง
AI ส่งผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และความมั่งคั่งภายในประเทศ โดยแรงงานที่มีสกิล AI จะมีประสิทธิภาพการทำงานและค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนคนที่ตกขบวนการใช้ประโยชน์จาก AI ก็จะตกเป็นรอง งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า AI ช่วยให้แรงงานที่มีประสบการณ์น้อยสามารถยกระดับประสิทธิภาพการทำงานได้เร็วขึ้น โดยคนรุ่นใหม่จะใช้ประโยชน์จาก AI ได้ง่ายกว่ากลุ่มพนักงานที่มีอายุมากซึ่งอาจปรับตัวกับเทคโนโลยีได้ยาก
นอกจากนี้ AI จะช่วยเสริมพลังการทำงานของกลุ่ม “แรงงานที่มีรายได้สูง” อย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้รายได้ของแรงงานบางกลุ่มเพิ่มขึ้นอย่างดุล เกิดช่องว่างทางรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทต่างๆ ที่ใช้ AI อาจทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งอาจเอื้อต่อผู้มีรายได้สูงด้วย
จากสถานการณ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า AI มีแนวโน้มสูงที่จะเพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างน่าเป็นห่วง รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายจึงเร่งดำเนินการในเชิงรุกเพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยี AI ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสังคม
IMF ออกดัชนีการเตรียมความพร้อม AI (AI Preparedness Index)
ช่วยผู้กำหนดนโยบายรับมือ AI อย่างเหมาะสม
AI กำลังแทรกซึมเข้าสู่ธุรกิจทั่วโลกด้วยความรวดเร็ว กดดันให้ผู้กำหนดนโยบายต่างออกโรงเตรียมรับมือ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้พัฒนา “ดัชนีการเตรียมความพร้อม AI” (AI Preparedness Index) เพื่อช่วยประเทศต่าง ๆ ออกแบบนโยบายที่เหมาะสม ซึ่งวัดความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล นโยบายด้านทุนมนุษย์และตลาดแรงงาน นวัตกรรมและการบูรณาการทางเศรษฐกิจ รวมถึงกฎระเบียบและจริยธรรม
เช่น นโยบายด้านทุนมนุษย์และตลาดแรงงาน จะประเมินปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะเวลาเรียนต่อปี ความคล่องตัวของตลาดแรงงาน และสัดส่วนของประชากรที่ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคม ส่วนองค์ประกอบด้านกฎระเบียบและจริยธรรม จะประเมินความยืดหยุ่นของกรอบกฎหมายประเทศต่อรูปแบบธุรกิจดิจิทัล และการมีธรรมาภิบาลที่แข็งแกร่งเพื่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
จากผลการประเมินของ 125 ประเทศ พบว่า ประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนา และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่บางประเทศเตรียมพร้อมรับมือการนำ AI มาใช้มากกว่าประเทศรายได้ต่ำ โดยประเทศสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเดนมาร์ก ได้คะแนนสูงสุดในดัชนีนี้ จากผลลัพธ์ที่ความพร้อมที่แข็งแกร่งใน 4 ด้านดังกล่าว
ข้อมูลเชิงลึกจากดัชนีการเตรียมความพร้อมของ AI แนะนำว่าประเทศพัฒนาแล้วควรจัดลำดับความสำคัญของนวัตกรรมและการบูรณาการ AI คู่ขนานไปกับการพัฒนากรอบการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง แนวทางนี้จะทำให้เกิดการใช้งาน AI ที่ปลอดภัยและมีความรับผิดชอบ ซึ่งช่วยรักษาความไว้วางใจของสาธารณชน สำหรับตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา สิ่งสำคัญอันดับแรกควรเป็นการวางรากฐานที่แข็งแกร่งผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและแรงงานที่มีความสามารถด้านดิจิทัล
ความพร้อมของ AI ประเทศไทย
ประเทศไทยได้มีการกำหนด “แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)” เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและนําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) จริยธรรมและกฎระเบียบ AI 2) โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI 3) การพัฒนากำลังคน AI 4) การวิจัยพัฒนากำลังคน AI 5) การส่งเสริมธุรกิจและการใช้งาน AI
โดยการดำเนินงานใน 1 ปีที่ผ่านมา มีผลลัพธ์การดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ อาทิ
1) ด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล มีการจัดทำคู่มือจริยธรรม AI เล่มแรกของไทย การจัดหลักสูตรจริยธรรมที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และการเปิดตัวศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์
2) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI บนคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) รวมทั้งเปิดให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณอันดับ 1 ในอาเซียน
3) ด้านการพัฒนากำลังคน ภาพรวมข้อเสนอการพัฒนากำลังคนด้าน AI ผ่านการเห็นชอบเพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน AI ในทุกระดับและทุกสาขาตรงตามความต้องการของเอกชน
4) ด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ เช่น มีหน่วยงานภาครัฐใน 76 จังหวัด นำระบบวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TPMAP) และการประยุกต์ใช้ AI ที่จะเป็นก้าวสำคัญสู่การขับเคลื่อนวงการแพทย์ คือ การพัฒนาเครือข่ายและแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ หรือ Medical AI Data Sharing ในความร่วมมือการวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้านปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ ระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สวทช. ภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
จากการดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ในด้านต่าง ๆ ส่งผลให้ปัจจุบันมีบุคลากรเข้ารับการอบรมในโครงการและหลักสูตร AI จำนวน 83,721 คน มีโครงการวิจัยและพัฒนาด้าน AI ในกองทุนวิจัยมูลค่า 1,290 ล้านบาท มีสตาร์ตอัปลงทุนเพิ่มจากการส่งเสริมของรัฐมูลค่า 639 ล้านบาท (รายละเอียดเพิ่มเติม)
สำหรับแผนงานในปี 2567 ของแผน AI แห่งชาติ ได้แก่
การจัดให้มีกิจกรรมการสร้างความตระหนักด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล Al ให้กว้างขวางมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้งาน Al และภาคประชาชน รวมถึงการยกระดับศูนย์ธรรมาภิบาล AI หรือ (AIGC) เพื่อให้คำปรึกษาด้าน Alทั้งในระดับพื้นฐาน เช่น การให้ความรู้หรือการตอบคำถามทั่วไปด้าน Al และในระดับเฉพาะทางเทคนิคหรือความรู้เฉพาะด้าน เช่น ด้านมาตรฐานของการใช้งาน Al และด้านการพัฒนาธรรมาภิบาล AI ในองค์กร เป็นต้น
การส่งเสริมเพื่อขยายผล Al Service Platform เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในการนำบริการด้าน Al มาจัดให้บริการ โดยมุ่งให้เป็นช่องทางและแหล่งรวมบริการด้าน AI ที่สืบหาได้สะดวกและขยายจากเดิมที่ Al Service Platform เริ่มจากนำบริการAl ของภาครัฐมาจัดให้บริการบนโครงสร้างพื้นฐานคลาวน์ภาครัฐ (GDCC)
การเสนอแผนการพัฒนาบุคลากร AI ในระดับกลางและสูง (Al Talent) รวมทั้งแผนงานโครงการเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการ Al แห่งชาติให้เกิดการพัฒนาบุคลากร Al เพิ่มเติมจากกิจกรรม AI Engineer ที่ได้ดำเนินการโดย AIAT ที่เป็นรูปธรรม แต่ยังมีจำนวนวิศวกร AI ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาบุคลากรในกลุ่มสายงานสนับสนุน (Al Supporting Staff) ให้มีความรู้เที่ยวกับการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การสนับสนุนการใช้งานเครื่องมือ AI ที่มีความแพร่หลายมากขึ้น
การส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมวิจัยพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมด้าน Al ที่สร้างผลกระทบสูงต่อภาคอุตสาหกรรม เพิ่มเติมจาก 3 กลุ่มเศรษฐกิจนำร่อง (เกษตร สุขภาพ/การแพทย์และภาครัฐ) โดยโจทย์การวิจัยพัฒนาที่เป็น fagship เช่น
การรวบรวมข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและการพัฒนา (Tourist Map)การพัฒนาระบบ Al สำหรับ Fraud Detection/ Fraud Behavior Modelling ในธุรกรรมการเงินการพัฒนาระบบ Al สำหรับการวิเคราะห์ภาพ (Industry Visual Inspectionการพัฒนาระบu Public Safety Platform โดยการบูรณาการข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น CCTV เซ็นเซอร์ การพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยและความผิดปกติ (Anomaly Detection)การพัฒนา Thai large language Model (Thai LLM) ของภาครัฐต่าง ๆ เป็นต้น เพื่อนำไปสู่ระบบแนะนำให้ข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในบริบทการบริการภาษาไทย
การร่วมขับเคลื่อน Tech Startup เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและการสร้างสรรค์งานบริการด้าน AI ในประเทศไทยให้เพิ่มขึ้น โดยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อผสานพลังในการสนับสนุน